วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การเดินท่อดูดควัน

ในกรณีที่เลือกใช้เครื่องดูดควันระบบภายนอก จะต้องมีการติดตั้งท่อ เพื่อนำควันที่ดูดออกสู่ ภายนอก ถ้าเป็นบ้านที่กำลังปลูกสร้างอยู่ ก็น่าจะทำการเจาะช่องผนังเตรียมไว้ เพื่อใช้สำหรับการเดินท่อดังกล่าว ทั้งนี้ ควรจะมีการเลือกรุ่นและแบบของเครื่องดูดควัน ที่จะนำมาติดตั้งเอาไว้ก่อน กำหนดตำแหน่งที่ จะทำการติดตั้งให้แน่นอน ตลอดจนศึกษาหาข้อมูลเบื้องต้น ในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้ง และเดินท่อดูดควันจากผู้ขายเสียก่อน ในกรณีที่มีการทำตู้แขวนติดผนังเหนือเครื่องดูดควัน อาจจะต้อง ดัดแปลงตู้ โดยเจาะช่องด้านหลังหรือด้านบนของตู้ เอาไว้ให้พอดีกับตำแหน่งของท่อดูดควัน ที่ติดตั้ง การ เตรียมการต่างๆ ข้างต้น ถึงแม้ว่าจะดูยุ่งยากบ้างในตอนต้น แต่ก็ช่วยให้การติดตั้งเครื่องดูดควันและอุปกรณ์ต่างๆ เป็นไปอย่างเรียบร้อย เพราะถ้าหากเพิ่งคิดจะทำหลังจากที่การปลูกสร้างบ้าน และการติดตั้งตู้ต่างๆ ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว การเตรียมการและการติดตั้งจะยุ่งยากขึ้น อาจต้องมีการรื้อหรือดัดแปลงแก้ไข หลายอย่าง และผลงานที่ออกมา ก็จะไม่เรียบร้อยเท่าที่ควรในเรื่องการเดินท่อดูดควัน มีข้อสังเกตประการหนึ่ง ที่ผู้เขียนใคร่ขอแนะนำเพราะเคยเห็น ปัญหานี้มาก่อนแล้ว กล่าวคือ การต่อท่อดูดควันออกนั้นหลายบ้าน มักจะต่อท่อออกมาแล้วยกปลาย ท่อให้สูงขึ้น เพราะคิดว่าจะช่วยให้ลมร้อน ที่ดูดออกมาระบายออกได้สะดวก ซึ่งดูเผินๆ ก็น่าจะถูกต้องอยู่ แต่การกระทำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหาที่คาดไม่ถึงได้ ในกรณีที่ฝนตกและมีลมพัดเข้ามาในทิศทาง ของท่อดูดควันนี้พอดี และบริเวณนั้นไม่ได้มีการทำชายคา หรือกันสาดเพื่อป้องกันเอาไว้ อาจทำ ให้น้ำไหลย้อนเข้ามายังเครื่องดูดควัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อเครื่องและเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้ แต่ถ้ามีการวางระดับปลายท่อให้ต่ำลง จากแนวท่อส่วนต้นเล็กน้อย ก็จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ และก็ ไม่เป็นอุปสรรค ต่อการระบายลม หรือการทำงานของเครื่อง แต่อย่างใด

จากที่ได้กล่าวผ่านมา ทั้งในแง่ของความรู้บางอย่าง เกี่ยวกับเครื่องดูดควันการเตรียมการสำหรับ การติดตั้ง ตลอดจนข้อสังเกต บางประการจากปัญหาที่เคยพบเห็น คงจะช่วยให้ผู้อ่านมีความรู้เบื้องต้น และข้อมูลต่างๆ เพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถนำไปใช้พิจารณาเลือกซื้อ และเตรียมการต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น