วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เตรียมรางน้ำพร้อมรับหน้าฝน

ตอนนี้จะพาไปดูวิธีทำความสะอาดรางน้ำฝน และวิธีการติดตั้งรางน้ำแบบสำเร็จรูปอย่างง่ายที่เราสามารถทำได้ด้วยตนเอง ซึ่งทั้ง 2 วิธีการนี้เหมาะสำหรับบ้านที่มีชายคาต่ำ สามารถพาดบันไดขึ้นไปทำงานได้ง่าย แต่ไม่แนะนำสำหรับบ้านที่มีหลังคาสูงหรือตัวบ้านหลายชั้น เพราะหากคนทำไม่ชำนาญอาจเกิดอุบัติเหตุได้ครับ


เตรียมพร้อมทำความสะอาดรางน้ำ

รางน้ำที่เราใช้งานไปนาน ๆ เป็นไปได้ว่าอาจมีใบไม้ปลิดปลิวหล่นร่วงมาจากต้นไม้ที่อยู่ใกล้กับรางน้ำฝน หรือแม้แต่เศษถุงพลาสติก กระดาษที่อาจปลิว มาตามแรงลม รวมถึงนกบางชนิดอาจใช้รางน้ำเป็นที่ ทำรัง ทำให้รางน้ำเกิดการอุดตัน เราจึงต้องลงมือทำความสะอาดเพื่อเปิดทางให้น้ำฝนที่จะตกลงมาไหลผ่านรางน้ำได้ง่ายขึ้น ขั้นตอนการทำความสะอาดทำได้ดังนี้

  1. ให้เริ่มโกยเศษใบไม้และสิ่งอุดตันที่ค้างอยู่ ในรางน้ำออกให้หมด
  2. ขูดเศษคราบ เศษขยะ เศษดินออกให้หมด โดยใช้พลั่วขุดดินขนาดเล็กที่สามารถวางลงในรางน้ำได้ ซึ่งก่อนการขูดควรพรมน้ำให้คราบขยะเหล่านั้นมีความชื้น จะทำให้อ่อนตัวและขูดออกง่าย แล้วจึงนำคราบที่ขูดได้ทิ้งลงในถังขยะ ไม่ควรขูดขยะลงไปในท่อ น้ำลง
  3. ทำความสะอาดรางน้ำให้สะอาด ด้วยการนำสายยางฉีดน้ำลงในราง เพื่อไล่คราบสกปรกออกไป แต่หากคราบสกปรกติดแน่นมากให้ใช้เหล็กขูด หรือใช้แปรงลวดขัดคราบออกได้
  4. ขณะที่ฉีดน้ำทำความสะอาดให้สังเกตและตรวจดูว่ามีรอยรั่วเกิดที่รางน้ำบริเวณใดหรือไม่ หากพบให้ทำการอุดด้วยวัสดุอเนกประสงค์ประเภทซิลิโคนกัน น้ำทั้งด้านในและด้านนอก
  5. ตรวจสอบสภาพจุดยึดต่าง ๆ ของรางน้ำว่าคลายตัวหรือไม่ หากพบให้ขันให้แน่นอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และดูความเอียงของรางน้ำด้วยว่า น้ำฝนสามารถไหลลงมาได้สะดวกหรือไม่
  6. ในส่วนของท่อน้ำลงก็อาจมีสิ่งอุดตันได้เช่นกัน ให้ใช้งูเหล็กซึ่งเป็นสายเคเบิลในการทะลวงสิ่ง อุดตันที่อยู่ภายในท่อน้ำลง หากท่อน้ำลงยาวมากให้ทำความสะอาดทั้งแบบบนลงล่างและล่างขึ้นบนสลับกัน

การติดตั้งรางน้ำสำเร็จรูป

ปัจจุบันมีรางน้ำชนิดที่ทำสำเร็จรูปออกมาเพื่อให้นำไปติดตั้งได้ง่ายออกมามากมาย และมีรูปแบบหลากหลายน่าใช้ ขั้นตอนการติดตั้งทำได้ดังนี้

  1. กำหนดตำแหน่งและแนวการติดตั้งรางน้ำ โดยให้ร่างแบบลงบนกระดาษ จากนั้นวัดขนาดเพื่อคำนวณจำนวนอุปกรณ์ที่ต้องใช้ ซึ่งจะมีเส้นนรางน้ำเส้นยาว และข้อต่อเชื่อมต่าง ๆ เช่น ข้อต่อ 90 องศา ข้อต่อเชื่อมรางน้ำ ตัวต่อรางสู่ท่อน้ำลงด้านล่าง เป็นต้น
  2. ใช้เชือกตีเส้นแนวเพื่อกำหนดจุดการติดตั้งที่ชายคา โดยให้รางน้ำเอียงลาดลงในตำแหน่งที่ต้องการประมาณ 3 หุน ทุก ๆ 4 เมตร แล้วยึดตัวเกี่ยวที่ใช้ยึดรางเข้ากับแนวเส้นที่ตีไว้ด้านบนด้วยสกรูขนาด 1.5 นิ้ว ทุก ๆ ช่วงเมตร จากนั้นนำขาตัวยึดรางประกบเข้ากับรางน้ำ นำมาแขวนกับตัวเกี่ยวรางที่ยึดไว้กับชายคาก่อนหน้านี้
  3. ต่อรางน้ำฝนเส้นต่อไปโดยให้ประกอบเข้า กับตัวเชื่อมต่อรางหุ้มทั้งด้านในและด้านนอก จนครบตามตำแหน่งที่ต้องการ เมื่อถึงช่วงสุดท้ายให้วัดระยะที่เหลือ แล้วตัดขนาดรางน้ำฝนด้วยเลื่อยตัดเหล็กเท่ากับระยะที่วัดเอาไว้ แล้วจึงปิดหัวรางด้วยตัวปิดหัว
  4. การต่อท่อน้ำลง ให้ต่อจากตำแหน่งที่ยึดเข้ากับชายคา ตรวจดูให้ได้ระดับพอดีกับขนาดรางน้ำ จึงวางทาบแล้วยึดด้วยตัวต่อราง จากนั้นให้ติดตัวกันใบไม้ใน จุดที่ต้องการปิด ป้องกันไม่ให้ใบไม้เข้าไปอุดตัน
  5. นำข้อต่อท่อราง 135 องศา มาวางทาบกับผนังให้ได้แนวตรง แล้ววัดขนาดท่อน้ำลงต่อจากแนวชายคา ขีดเส้นและตัดขนาดท่อด้วยเลื่อยตัดเหล็ก นำไปต่อเข้ากับข้องอ ส่วนบริเวณผนังที่ลงพื้นให้รัดท่อด้วยตัวรัดท่อลง

ป้องกันเศษขยะ-ใบไม้ อุดตันรางน้ำฝน

มีความเป็นไปได้มากที่ท่อรับน้ำฝนจะอุดตัน อันเนื่องมาจากการสะสมของเศษใบไม้ และเศษอื่น ๆ การป้องกันไม่ให้สิ่งไม่พึงประสงค์เหล่านี้มาอุดตัน จะใช้เหล็กตะแกรงที่มีรูขนาดเล็กมาปิดทับตลอดปากรางรับน้ำฝน หรือม้วนให้มีขนาดพอดีกับรางรับน้ำฝน แล้วใส่เข้าไปในรางรับตลอดแนว การทำเช่นนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้มีเศษวัสดุมาอุดตันได้

เพียงเท่านี้คุณก็ได้รางน้ำสำหรับพร้อมใช้ในหน้าฝนแล้วครับ

ที่มา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น